"ไอ้มดแดง" Let's Go Kamen Riders ความขลังที่ (เริ่มจะ) หายไป

การ์ตูนญี่ปุ่น & เกมส์ 3 เมษายน 2556

Views : 3515

 

คำว่า "ไอ้มดแดง" ที่คุ้นหูติดปากกันมานาน อาจค่อยๆ เลือนหายไปพร้อมกับ ความพยายามของเจ้าของลิขสิทธิ์ในเมืองไทย ที่เริ่มเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "คาเมนไรเดอร์" ตามอย่างญี่ปุ่น เพราะเอาเข้าจริง ๆ ซูเปอร์ฮีโร่กลุ่มนี้ก็แทบไม่มีคนไหนที่ถูกดัดแปลงมาจาก "มด" อย่างที่ชื่อไทยเราเรียกเลย ซึ่งก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ชื่อเท่านั้นที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เนื้อหาอารมณ์ต่าง ๆ ของซีรีส์ชุดนี้ก็แตกต่างจากยุคที่ทุกคนเคยเรียกกันว่า "มดแดง" ไปไกล
       
       ในช่วงที่ "พ่อมาก" กำลังเข้าฉายทำเงินถล่มทลาย แถมกำลังจะมี "คู่กรรม" มาสร้างความแออัดให้กับโรงหนังอีก มีหนังฟอร์มเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งที่เขาฉายไปแล้วเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้า และสร้างความฮือฮาในคนกลุ่มเล็ก ๆ กับรายได้ 3 ล้านบาท ที่อาจจะไม่ได้มากมายอะไรเมื่อเทียบกับขนาดธุรกิจภาพยนตร์ในปัจจุบัน แต่หากมองว่านี่คือหนังประเภท "เฉพาะกลุ่ม" ที่นาน ๆ จะมาเข้าโรงภาพยนตร์บ้านเราซักครั้ง แถมเป็นการฉายวงกว้างกระจายตัวในหลายจุด ไม่ใช่ประเภทเข้าโรงเดียว ก็ถือว่าเป็นน่าทึ่งขึ้นไปอีก กับฉบับภาพยนตร์ของ "ไอ้มดแดง" เรื่องล่าสุด ที่เราเพิ่งจะได้ดูในโรงกัน
       
       ซีรีส์ที่เป็นผลงานจากมันสมองของนักเขียนการ์ตูนชื่อดัง โชทาโร่ อิชิโนะโมะริ เริ่มต้นออกอากาศในปี 1971 แม้จะไม่ถึงขั้นเป็นซีรีส์ประจำปีแต่ก็เรียกว่ามีมาให้ดูกันตลอดจนไปถึงปลาย ๆ ยุค 80s ก่อนจะหยุดพักยาวหลัง BLACK RX ถือว่าเป็นการปิดฉาก ไรเดอร์ ในสมัยที่เรียกกันว่า "ยุคโชวะ" อย่างเป็นทางการ
       
       


       
       ไรเดอร์ กลับมาเกิดใหม่ในอีกสิบปีหลังจากนั้น เมื่อ ค.ศ. 2000 ที่มีชื่อเรียกรวม ๆ ว่า "ไรเดอร์ยุคเฮเซ" ด้วยซีรีส์ "คูกะ" ที่มีเนื้อหาหนักแน่นจริงจัง และแปลกใหม่ หลังจากนั้นก็มีสร้างกันออกมาเรื่อย ๆ และแตกต่างกันไปในแต่ละซีรีส์ ทั้งในแง่เนื้อเรื่อง และการออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกของไรเดอร์ ชนิดบางตัวแทบไม่มีอะไรที่จะอ้างอิงไปถึงไรเดอร์ยุคโชวะที่ถือว่าเป็นต้นฉบับได้เลย บางครั้งก็ประสบความสำเร็จงดงาม แต่บางครั้งก็ล้มเหลว
       
       จากเดิมที่เคยมี ไรเดอร์ กันภาคละคนสองคน ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บางภาคมีกันเป็น 10 นอกจากนั้นในยุคนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เข็มขัดแปลงร่างเสมอไป บางครั้งไรเดอร์ก็ไม่ได้ขี่มอเตอร์ไซค์กันอีกแล้ว ที่สำคัญยอดมนุษย์ที่คนไทยเรียกติดปากกันว่า "มดแดง" แทบไม่ได้เป็นมนุษย์ดัดแปลงกกันแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนธรรมดา ที่สวมชุดเกราะพิเศษแทน
       
       จุดเปลี่ยนสำคัญมาเกิดขึ้นตอน "มาสค์ไรเดอร์เดนโอ" ในปี 2007 ที่ใช้ความฮาเป็นจุดขายหลัก จนประสบความสำเร็จได้รับความนิยมในหมู่เด็ก ๆ สูงมาก ยอดขายของเล่นจากซีรีส์จึงพุ่งกระฉูด ซึ่งยอดของเล่นที่ผลิตโดย Bandai นี่แหละคือดัชนีชี้วัดความสำเร็จในแง่ธุรกิจของ ไรเดอร์ อย่างแท้จริง ชนิดสำคัญยิ่งกว่าเรตติ้งหรือกระแสมีคนพูดถึงใด ๆ เสียอีก
       
       


       
       ส่วนใน คาเมนไรเดอร์ ดีเคท ซีรีส์ประจำปี 2009 ที่ว่าด้วยไรเดอร์ซึ่งสามารถเดินทางข้ามมิติไปในจักรวาลของไรเดอร์อื่น ๆ ได้ (แตกต่างจากสมัย ไรเดอร์โชวะ ที่ทั้งหมดถือว่าอยู่ในจักรวาลเดียวกัน) ก็เปิดโอกาสให้ไรเดอร์ในยุคนี้ทั้งหมด สามารถมาปรากฏตัวร่วมกันได้เสียที จึงมีการสร้างหนังประเภท "รวมดาราไรเดอร์" อีกครั้ง
       
       ไอเดียการจับซูเปอร์ฮีโร่มามัดขายรวมกันยังถูกขยายไปในหนังชุดเซนไต หรือ ขบวนการ 5 สี ในซีรีส์ ไคโซคุ เซนไท โกไคเจอร์ (ขบวนการโจรสลัด โกไคเจอร์) ด้วย หลัง ๆ ทางToei ถึงขั้นจับเอาทั้งไรเดอร์ กับเซนไตมารวมกันในฉบับหนัง เสริมทัพด้วยซูเปอร์ฮีโร่สายพันธ์อื่น รวมถึงพวก "ตำรวจอวกาศ" จนบางครั้งแทบจะกลายเป็นการรุมกินโต๊ะสัตว์ประหลาด ชนิดไม่รู้ใครเอาเปรียบใครกันเลย
       
       จากความสำเร็จช่วงแรก ๆ ของ "ยุคเฮเซ" ที่มาพร้อมเนื้อหาหนักแน่นจริงจัง ซีรีส์ไอ้มดแดง คาเมนไรเดอร์ ในยุคหลัง ๆ กลับมีความลงตัวทางธุรกิจยิ่งกว่าเดิม โดยเฉพาะกับอุตสหกรรมของเล่น จนสามารถสร้างติดต่อกันได้ถึง 14 ภาค ยืนยาวยิ่งกว่าไรเดอร์รุ่นคลาสสิกในยุคโชวะเสียอีก แต่ในทางเนื้อหา กับคำถามที่ว่าจิตวิญญาณดั้งเดิมของความเป็นไรเดอร์ยังคงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมอยู่หรือไม่นั้น ก็คงต้องถกเถียงกันไปอีกยาว
       
       


       
       นับได้ว่าในยุค "ไรเดอร์เฮเซ" มดแดงได้กลับมาดังอีกครั้งในเมืองไทย มีบริษัทซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาฉาย และออกจำหน่ายในรูปแบบโฮมวิดีโอทุกภาค อาจจะได้ดูช้ากว่าญี่ปุ่นไปสัก 1 - 2 ปี เช่นเดียวกับฉบับภาพยนตร์ฉายโรง ที่ก็มีมาให้ดูกันตลอด
       
       "มาสค์ไรเดอร์ รวมพลังผ่ามิติกู้โลก" หรือ OOO, Den-O, All Riders: Let's Go Kamen Riders ที่มีชื่อเต็ม ๆ เป็นภาษาญี่ปุ่นยาวเหยียด Ōzu Den'ō Ōru Raidā: Rettsu Gō Kamen Raidā เป็นหนังประจำ 2011 มีตัวละคร "ไรเดอร์โอ๊ส" (ที่ซีรีส์หลักยังไม่ได้เข้ามาฉายในไทยอย่างเป็นทางการ) เป็นตัวเอกยืนพื้น ร่วมกับ ไรเดอร์ เดน โอ สุดฮิต และมีทีเด็ดอยู่ที่การเล่าเรื่องว่าด้วยการย้อนอดีต กลับไปหายุคสมัยของ มาสค์ไรเดอร์ หมายเลข 1 และ 2 สุดคลาสสิก แถมมีไรเดอร์รุ่นเก่า ๆ มาโชว์ตัวกันครบ
       
       เนื้อเรื่องของหนังเล่าถึงการเดินทางข้ามเวลาไปสู่ปี 1971 ของสองไรเดอร์หนุ่มเพื่อปราบสัตว์ประหลาดตัวหนึ่ง แต่ดันไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของประวัติศาสตร์ จนขบวนการ ช็อคเกอร์กลายเป็นผู้ชนะได้ครองโลก แถมยังจับไรเดอร์หมายเลข 1 และ 2 ล้างสมองจนกลายเป็นสมุนอันดับหนึ่ง ทั้ง เดนโอ และ โอ๊ส จึงต้องพยายามแก้ไขสถานการณ์เพื่อให้โลกกลับมาสงบสุขอีกครั้ง
       
       


       
       ใครที่เคยผ่านตาหนัง ไรเดอร์ ในระยะหลังมาก็คงพอจะคาดเดาได้ Let's Go Kamen Riders ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเนื้อหาอะไรมากนัก ผู้สร้างแทบไม่ใส่ใจกับการอธิบายเรื่องราวพื้นฐานใด ๆ ให้คนดู (โดยเฉพาะหน้าใหม่) ได้รับรู้กันก่อน การปรากฏตัวของ ไรเดอร์ ต่างยุคต่างสมัยจนไปถึงซูเปอร์ฮีโร่รุ่นลุง ๆ อีก 4 คนที่มารับเชิญในหนังด้วย เกิดขึ้นแบบไม่ต้องให้เหตุผลที่เป็นรูปธรรมใด ๆ
       
       หนังไม่สามารถใช้หลักการทางภาพยนตร์ใด ๆ มาชี้วัดคุณค่าได้เลย เพราะหากจะวัดกันจริง ๆ ก็ต้องบอกว่าหนังไม่ค่อยจะสนุกนัก เล่าเรื่องได้ไม่ลื่นไหล, คิวบู๊ไม่มีอะไรโดดเด่น คุณภาพการถ่ายทำ จนไปถึงเทคนิคพิเศษก็ถือว่าดีกว่าฉบับฉายทางทีวีนิดหน่อย ซ้ำร้ายชุดไรเดอร์หลาย ๆ ตัวยังดูไม่ค่อยพอดีตัวกับนักแสดงสตั้นเอาเสียเลย
       
       อาจจะบอกว่าอารมณ์ของ Let's Go Kamen Riders ใกล้เคียงกับการแสดงประเภท LIVE SHOW ไรเดอร์ ก็พอจะได้ ถึงขั้นมีการส่งตัวประกอบฝูงชนมาเชียร์และตะโกนชื่อของ ไรเดอร์ แต่ละคนตอนมาปรากฏตัวกันเลยทีเดียว ใจความสำคัญของหนังดูจะพยายามสื่อความหมาย และความรู้สึกไปถึง ความทรงจำของชาวญี่ปุ่นกับ ไรเดอร์ ที่ยาวนานมาถึง 40 ปี เป็นหลัก
       
       เทียบกับฉบับหนังโรงของซูเปอร์ฮีโร่จากฝั่ง Tsuburaya Productions อย่าง อุลตร้าแมน ที่เพิ่งออกแผน DVD ในบ้านเราอย่าง Ultra Galaxy Mega Monster Battleก็ต้องยอมรับว่าทางฝั่ง อุลตร้าแมนดู "ลงทุน" กว่า, ดูสมศักดิ์ศรีเป็นหนังฉายโรงภาพยนตร์ และยังมีความ "เป็นมิตร" กับคนดูหน้าใหม่อยู่บ้าง ไม่ได้เอาใจเฉพาะแฟนพันธุ์แท้กันเท่านั้น
       
       ว่ากันตามตรงหนังประเภทรวม ไรเดอร์ เรื่องก่อนอย่าง Kamen Rider Decade: All Riders vs. Dai-Shocker ก็ยังดูดีกว่า Let's Go Kamen Riders อยู่พอสมควร ทั้งด้านเนื้อเรื่อง และจังหวะจะโคนต่าง ๆ ที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่าสนุก
       
       Let's Go Kamen Riders เป็นหนังที่สร้างแบบ "เฉพาะกลุ่ม" อย่างแท้จริง คนที่จะดูได้สนุกเต็มที่ก็ต้องผ่านตามฉบับซีรีส์ทางทีวีมาบ้างเท่านั้น ... ซึ่งสำหรับที่ญี่ปุ่น การที่หนังสามารถขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศในตอนเข้าฉายเมื่อปี 2011 ก็พอจะเป็นบทพิสูจน์ได้ว่า ไอ้ที่ว่า "เฉพาะกลุ่ม" ของหนังเรื่องนี้มันก็เรียกว่าใหญ่พอสมควรเลยทีเดียว
       
       อันที่จริงแล้วต้องบอกว่าวงการหนังญี่ปุ่นในระยะหลัง ดูจะประสบความสำเร็จกับการขายของ "เฉพาะกลุ่ม" แบบนี้มาตลอด ถ้าได้ติดตามตารางหนังทำเงินประจำสัปดาห์ของที่นั่นก็จะพบว่าหนังที่ทำเงินได้ดีในระยะหลัง ก็หนีไม่พ้น ภาพยนตร์การ์ตูน, หนังคนแสดงที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูน และหนังต่อยอดของทีวีซีรีส์สุดฮิต เป็นงานประเภทที่ผู้ชมต้องมีพื้นฐานคุ้นเคยกับต้นฉบับเก่า ๆ มาก่อน จึงจะสามารถบันเทิงกับหนังได้อย่างเต็มที่ อาจจะเป็นงานที่ขายได้ยากในต่างประเทศ แต่ก็เรียกว่าทำให้หนังญี่ปุ่นสู้รบปรบมือกับหนังฮอลลีวูดในประเทศตัวเองได้อย่างน่าชมเชย
       
       เช่นเดียวกับในเมืองไทยที่หนังเก็บเงินในการฉาย 4 วันแรกได้ตั้ง 3 ล้านบาท เรียกว่านอกจากคนญี่ปุ่น ก็คงมีชาวไทยนี่แหละ ที่พอจะสนุกกับ Let's Go Kamen Riders ได้บ้าง เพราะเราเองก็โตมากับเหล่านักสู้นักบิดกลุ่มนี้เช่นเดียวกัน
       
       


       
       ในแง่การทำธุรกิจ Let's Go Kamen Riders ดูจะเป็นงานที่ประสบความสำเร็จ และตอบโจทย์ได้ครบถ้วนสมบูรณ์ หนังมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน และคงคุมงบประมาณในการสร้างได้ดีเหมือนเดิม แต่คุณค่าในทางภาพยนตร์ต้องยอมรับว่าไม่ได้สูงนัก (แม้จะเทียบในงานประเภทเดียวกัน) ความประทับใจใด ๆ ที่จะเกิดขึ้น ก็คงจะเป็นเรื่องของความทรงจำของคนดูแต่ละคน มากกว่าจะเกิดขึ้นจากตัวหนังโดยตรง
       
       เรียกว่าฉบับซีรีส์ก็ยังพอดูได้ บางปีถึงขั้นดีอยู่เหมือนเดิม แต่ในรูปแบบหนังโรงนี่แหละ ที่เข้าข่ายจะเป็นงานประเภทดูเอาขำ ๆ ตามขบวนการ Sentai ไปเรื่อย ๆ
       
       การรวมเหล่ายอดมนุษย์กลุ่มใหญ่ ยืนเรียงแถวกันเป็นกองทัพ ยกพวกตีกับสัตว์ประหลาดที่มากันเยอะไม่แพ้กัน ก็ถือว่าเป็นภาพน่าตื่นเต้นดีอยู่หรอกครับ แต่ถ้ารวมกันบ่อย ๆ แบบนี้ก็คงจะไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรอีกแล้ว ... จะบอกว่าไม่ขลังก็คงพอจะได้ เอาเป็นว่าหลัง Kamen Rider × Super Sentai × Space Sheriff: Super Hero Taisen Z ที่คราวนี้จะรวมกันเยอะยิ่งกว่าเก่า ทาง Toei ก็น่าจะได้เวลาพักมุขรวมตัวประเภทนี้ไปซักช่วงได้แล้ว

 

ที่มา: Manager-online

可愛い [KAWAII]

ความหมาย : น่ารัก